ReutersReuters

JAPAN:ชี้การขึ้นดบ.ของ BOJ เพิ่มปัญหาด้านหนี้สินให้รบ.ญี่ปุ่น

โตเกียว--28 พ.ย.--รอยเตอร์

  • การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เคยใช้มานาน 10 ปี ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องพิจารณาทบทวนวิธีการแบบเดิมที่เคยใช้ ซึ่งได้แก่การกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาใช้ในมาตรการใช้จ่ายขนาดใหญ่ โดยมีแนวโน้มว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเผชิญกับปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคตด้วย เพราะว่ามีเสียงเรียกร้องทางการเมืองให้รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินมาตรการลดหย่อนภาษีแบบถาวร ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ วางแผนที่จะดำเนินมาตรการใช้จ่ายขนาด 13.9 ล้านล้านเยน (9.2 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อลดทอนผลกระทบจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวจะใช้เงินที่ได้มาจากงบประมาณเพิ่มเติม และทางรัฐบาลจะจัดทำงบประมาณดังกล่าวให้แล้วเสร็จในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการลดหย่อนภาษีแบบถาวรตามเสียงเรียกร้องของพรรคฝ่ายค้านด้วย ในขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลลบราว 4 ล้านล้านเยนต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีในปีหน้า

  • การดำเนินมาตรการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากบีโอเจยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากไปแล้ว โดยบีโอเจได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในอนาคตด้วย โดยนักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 44% ที่บีโอเจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 18-19 ธ.ค. และมีโอกาส 56% ที่บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 18-19 ธ.ค. โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของบีโอเจจะส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ยอดหนี้สินของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,100 ล้านล้านเยนในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าสูงเกือบถึง 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่่น ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงจัดทำมาตรการใช้จ่ายขนาดใหญ่ในปัจจุบัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ เลิกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นไม่สามารถพึ่งพาบีโอเจในการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำได้อีกต่อไป เพราะว่าบีโอเจได้ยุติมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนไปแล้วในเดือนมี.ค.ปีนี้ นอกจากนี้ บีโอเจก็ได้วางแผนที่จะปรับลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) และบีโอเจส่งสัญญาณอีกด้วยว่า บีโอเจตั้งใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไป

  • มีแนวโน้มว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องใช้เงินในการชำระหนี้ราว 27 ล้านล้านเยน หรือราว 24% ของงบประมาณทั้งหมดของปีนี้ และต้นทุนในการชำระหนี้ก็อาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก ถ้าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ทะยานสูงขึ้น นอกจากนี้ ก็มีการประเมินกันว่าปริมาณการออกจำหน่าย JGB ทั้งหมดสำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. 2025 อยู่ที่ราว 182 ล้านล้านเยน โดยดิ่งลง 6% จากปีงบประมาณก่อน แต่ยอดการออกจำหน่ายอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเป็นผลจากมาตรการใช้จ่ายของนายกรัฐมนตรีอิชิบะ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ปริมาณการออกจำหน่ายพันธบัตรทั้งหมดสำหรับปีงบประมาณถัดไป จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีงบประมาณปัจจุบัน หรืออาจจะเพิ่มสูงขึ้น โดยขึ้นอยู่กับขนาดของมาตรการลดหย่อนภาษี

  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นซึ่งดูแลแผนการออกจำหน่าย JGB เผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากในตอนี้ หลังจากบีโอเจปรับลดบทบาทของตนเองในตลาด JGB โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องปรับลดการออกจำหน่าย JGB ระยะยาวมาก เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตลดความต้องการซื้อพันธบัตรประเภทนี้ลง และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลุ่มธนบดีธนกิจ หรือธนาคารที่ให้บริการแก่ลูกค้าบุคคลรายใหญ่ เข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในฐานะผู้ซื้อ JGB รายใหญ่ แต่การดึงดูดธนาคารกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ ธนาคารกลุ่มธนบดีธนกิจถือครอง JGB เพียง 14% ของตลาด JGB ในปัจจุบัน โดยลดลงจากสัดส่วน 41% ในช่วงก่อนที่บีโอเจจะเริ่มต้นดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปี 2013 โดยสัดส่วนที่ปรับลดลงนี้มีสาเหตุมาจากการคุมเข้มกฎระเบียบด้านเงินกองทุนในภาคธนาคาร และมีสาเหตุมาจากการดิ่งลงของบอนด์ยิลด์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการที่บีโอเจเคยเข้าซื้อ JGB จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

  • หลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้ประชุมกับผู้มีส่วนร่วมในตลาดในวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า "เนื่องจากภาคธนาคารมีอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มปริมาณการออกจำหน่าย JGB ระยะกลางและระยะยาว และมีเสียงเรียกร้องอย่างแข็งแกร่งให้มีการปรับเพิ่มปริมาณการออกจำหน่ายตั๋วเงินคลังด้วย" โดยถ้อยแถลงของเขาบ่งชี้ถึงความพร้อมที่จะออกจำหน่ายตั๋วเงินคลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธนาคารสามารถเข้าซื้อได้โดยง่าย อย่างไรก็ดี การออกจำหน่ายตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรระยะสั้นมากเกินไป จะส่งผลให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องต่ออายุหนี้บ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลให้ฐานะการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นจากการแกว่งตัวผันผวนในตลาดพันธบัตร ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า ถึงแม้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นต้องการจะดึงดูดนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนต่างชาติให้เข้าซื้อ JGB มากยิ่งขึ้น นักลงทุนทั้งสองกลุ่มนี้ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะถือครอง JGB ในระดับที่สูงมากพอ และไม่มีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างมีเสถียรภาพมากพอที่จะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถออกจำหน่าย JGB ได้อย่างราบรื่น--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Log masuk atau cipta satu akaun percuma selamanya untuk membaca berita ini

Lebih berita dari Reuters

Lebih berita